รองศาสตราจารย์ นันทชัย ทองแป้น
คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์
มหาวิทยาลัยรังสิต


สารจากคณบดีปีการศึกษา 2566

                              วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตมีประวัติความเป็นมาจากวิสัยทัศน์และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในรูปแบบของ RSU Model “Innovative Startup Entrepreneurship” By Integrative and Regenerative Competency Based Technology Transformation เน้นพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ก้าวนำกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลก”


                              ดังนั้นในปีการศึกษา2545 มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ สังกัดภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปีการศึกษา 2555 ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรเป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และยังสังกัดอยู่ในภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในแง่การพัฒนาทางหลักสูตรฯได้ทำการพัฒนาแบบรอบด้านในทุกมิติของการจัดการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การให้บริการทางวิชาการ รวมทั้งทางด้านการบริหารจัดการ จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม พศ.2559 ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ยกระดับจากสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ขึ้นเป็นคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ และ ในระยะเวลา2 ปีถัดมาคือในวันที่16 กรกฎาคม 2561 มหาวิทยาลัยรังสิตได้มีคำสั่งประกาศยกระดับจากคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากตั้งแต่ปีการศึกษา2545 เป็นต้นมาหลักสูตรฯได้ทำการผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ออกไปรับใช้สังคม จำนวนประมาณมากกว่า 700 คน ในจำนวนนี้ได้ผลิตบุคลากรให้กับกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 25 คน บัณฑิตที่จบออกไปจากมหาวิทยาลัยรังสิตได้ออกไปเป็นวิศวกรชีวการแพทย์ให้กับประเทศไทยได้เติมเต็มการพัฒนาวงการสาธารณสุขจนนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนชาวไทยจนได้มาตรฐานในระดับสากลรวมทั้งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชียของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย


                              โลกปัจจุบันได้ผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่21 ที่เปลี่ยนมาสู่ สังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) และ “สังคมหลังยุคฐานความรู้” (Post Knowledge Based Society) ตามลำดับเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิทัศน์ในทุกมิติทั้งทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนกับโลกในยุคที่กล่าวมา จากเดิมที่เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี “อนาคตที่ค่อนข้างชัดเจน” สู่ “อนาคตที่เป็นไปได้ในหลากหลายทางเลือก” จากนั้นเปลี่ยนมาสู่ “อนาคตที่ค่อนข้างคลุมเครือ” และในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มี “อนาคตที่ไร้ความชัดเจน” หรือ “VUCA World”(Volatility:Uncertainty:Complexity: Ambiguity) ซึ่งเป็นโลกใบใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก “โลกที่คงรูป (Linear World)” สู่ “โลกที่เลื่อนไหล (Non-Linear World)” ซึ่งระบบต่างๆในทุกมิติมีความซับซ้อนมากขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโลก “โลกที่ไม่พึงประสงค์” ซึ่งเต็มไปด้วยคลื่นวิกฤตเชิงซ้อนเป็นระลอก ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา


                              จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆของโลกดังที่กล่าวมาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้มองเห็นว่าการรู้เท่าทันเพื่อดำรงชีวิตหรือให้สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคศตวรรษที่21นั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจ “โครงสร้างเชิงระบบ” (Systemic Structure)ที่สามารถแสดงกลไกความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆอย่างเป็นระบบ และหยั่งรู้ถึง “ความคิดฐานราก” (Mental Model)ที่กำหนดโครงสร้าง กฎเกณฑ์ รูปแบบ ตัวขับเคลื่อน และผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ในเรื่องนั้น ๆ รวมถึงการพัฒนา “ปัญญา” (Wisdom)มิใช่แค่ “องค์ความรู้” (Knowledge)อย่างที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Wisdom for Sustainable Development) นั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าใจโลกในยุคปัจจุบันอย่างกระจ่างชัด แค่ลำพังขีดความสามารถในการคาดการณ์ (Anticipative Capacity) เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนา “ขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยน” (Transformative Capacity) โดยต้องเริ่มด้วย “การปรับเปลี่ยน Mindset” มากกว่าการเน้นยกระดับ Skillset หรือการพัฒนา New Skill เพียงอย่างเดียว


                              สำหรับในส่วนของมิติในด้านการแพทย์ในโลกยุคศตวรรษที่21นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์(Paradigm Shift)จากการรักษาผู้ป่วย(Patient Care:Corrective Medicine)เป็นการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน(Healthcare หรือ Care for Citizen หรือ Preventive Medicine) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในด้านการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนสำหรับทุกประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยจากยุคโควิด-19ที่เพิ่งผ่านนอกเหนือจากเรื่องความพอเพียงและความพร้อมใช้ก็คือความมั่นคงทางด้านเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพ


                              ดังนั้นการสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาและการผลิตบัณฑิตเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดและบทบาทของวิทยาลัยฯจากการเป็นแหล่งเรียนรู้เป็นแหล่งสร้างนวัตกรโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการเลือกสร้างนวัตกรรมที่ตรงกับความฝัน(Passion)ของตนเองตามความถนัดและเป็นสิ่งที่ตนเองและโลกต้องการ นอกจากนั้นต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการเรียนให้มีความรู้เป็นการเรียนเพื่อรู้เท่าทันและฉลาดรู้ทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการเรียนรู้เพื่อเป็นผู้นำในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างมีนวัตกรรมรวมทั้งให้ผู้เรียนเปลี่ยนกรอบความคิดละมุมมองจากการให้ความสำคัญเฉพาะกับตัวเองให้มีมุมมองใหม่ที่มองเห็นสังคมส่วนรวมสำคัญกว่าตนเอง


                              ดังนั้นจึงได้เน้นพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการผลิตบัณฑิตที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership Attributes)โดยจัดการศึกษาในรูปแบบที่เรียกว่า Transformative Learningควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะหลักในวิชาชีพทั้งที่เป็นองค์ความรู้และทักษะในเชิงสากลและที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทย ซึ่งการจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานพลังกัน(Synergy)ในทุกมิติทั้งในเรื่องคน ภารกิจ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด


                              ในการเดินฝ่ากระแสของสถานการณ์( Scenarios)การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของโลกดังกล่าว วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือการวางอนาคตใหม่ให้กับบัณฑิตทุกคนโดยการทำให้ “โลกของการเรียนรู้ โลกของการทำงานและโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน” สำหรับใช้ในการแปลงเป็นขีดความสามารถชุดใหม่ เพื่อตอบโจทย์และรองรับกับมิติต่างๆของแพลตฟอร์มของโลกในศตวรรษที่21 ในหลากหลายมิติของโลกในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนให้ครบถ้วน สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ในระยะ5ปีข้างหน้า(2565-2569)นั้น ตั้งอยู่บนปรัชญาที่ว่า “นวัตกรรม จิตวิญญาณผู้ประกอบการ และ ความเป็นสากล ชนะทุกสิ่ง และนำมาซึ่งความสำเร็จ” โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ในทุกๆด้านเพื่อก้าวสู่ “ก้าวสู่ “วิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่เน้นการให้การศึกษาตลอดทุกช่วงชีวิต” และมีปณิธานในการ”มุ่งทำให้โลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งการทำงาน และโลกแห่งอนาคตเป็นโลกเดียวกัน””ที่มีอัตลักษณ์ที่สำคัญคือ “ประพฤติอย่างมีคุณธรรม คิดอย่างมีนวัตกรรม ทำด้วยจิตวิญญาณผู้ประกอบการ” เพื่อตอบสนองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้จัดทำและวางยุทธศาสตร์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ในอีก5ปีข้างหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายจำนวน 5 ด้านคือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาและการผลิตบัณฑิต(Excellence in Education) โดยการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์(Paradigm Shift)จากการรักษาผู้ป่วย(Patient Care)เป็นดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน(Healthcare หรือ Care for Citizen)รวมทั้งสอดคล้องและตอบสองต่อโลกของผู้ประกอบการจริง(Real Sector) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย การจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์(Outcome Based Education)ด้วยการทลายกำแพงรายวิชาและทำการบูรณาการองค์ความรู้ในทุกด้านที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน มีจุดมุ่งหมายคือการผลิตบัณฑิตที่มีวิญญาณการเป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบการ เน้นการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ที่สำคัญคือจะผลิตบัณฑิตที่เป็นวิศวกรรมชีวการแพทย์สากล(Global Biomedical Engineers)ที่สามารถทำงานได้ทั่วโลก มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา และการบริหารจัดการเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยภายใต้คุณธรรมและจริยธรรม ระบบการศึกษาทั้งหมดต้องมีความยืดหยุ่น ตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเนื้อหาวิชาและการจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับผู้ประกอบการจริง (Real Sector Driver) และ ปลูกฝัง แนวคิด และทัศนคติในเรื่องของทักษะหรือจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit)นอกจากนั้นในยุทธศาสตร์นี้ จะมุ่งขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ที่เพรียกพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ หรือการเป็นผู้ประกอบการอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับมิติของเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศในย่านเอเซียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน


ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์ได้จริงเพื่อการพึงพาตนเองให้กับสังคมและประเทศชาติ (Innovative Research and Development)ยุทธศาสตร์นี้มุ่งในการเป็นวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์เพื่อสังคมแห่งอาเซียน โดยการต่อยอดการพัฒนาศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้และเชิงพาณิชย์จำนวน 5 ศูนย์หลักได้แก่
1. ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้ด้านเครื่องมือแพทย์อัฉริยะ( Smart Medical Device Research Development &Learning Center) ที่ประกอบด้วยอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางการแพทย์( Medical IoT) ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์( Medical Artificial Intelligence (AI)) และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotic)
2. ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมฟื้นฟู(Rehabilitation Engineering Research Development &Learning Center) ที่มุ่งตอบสนองยุคของสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ
3. ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้วัสดุทางการแพทย์และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ(Biomaterial &Tissue Engineering Research & Development &Learning Center)
4.ศูนย์นวัตกรรมและบริการงานวิศวกรรมชีวการแพทย์(Biomedical Engineering Innovation and Services Center: BIS Center)
5.BMERSU Technology Transformation Center( TTC BMERSU) ศูนย์วิจัย พัฒนาและเพื่อการเรียนรู้ทั้งห้าศูนย์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อน พัฒนาประสิทธิผล เพิ่มขีดความสามารถ และกำหนดทิศทาง ของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตในการปฏิบัติภารกิจในด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการให้บริการทางวิชาการโดยที่ศูนย์ดังกล่าว มีภารกิจด้านการวิจัย พัฒนา แปรรูปรวมทั้งเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนำผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมเพื่อเชิงพาณิชย์ เพื่อบริการสังคมและเพื่อพัฒนาบัณฑิต


ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารจัดการสู่องค์กรอัจฉริยะ (Smart Organization) ยุทธศาสตร์นี้มุ่งพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ทันสมัยเพื่อมุ่งสู่การเป็นวิทยาลัยแห่งผลลัพธ์ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเป็นตัวสนับสนุนให้ยุทธศาสตร์ที่1 และยุทธศาสตร์ที่2สามารถดำเนินการและขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยเน้นในด้านของการสร้างวิทยาลัยให้เป็นสังคมของคนดีคนเก่งมีความสุขอบอุ่นและทำให้บุคลากรรู้สึกผูกพันและร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานให้เกิดขึ้นการทำให้สังคมและบรรยากาศของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็น”วิทยาลัยแห่งความเป็นนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ”การพัฒนาระบบบริหารจัดการให้เป็นแบบ E–College รวมทั้งทำให้บรรยากาศในทุกมิติเอื้อต่อการเปลี่ยนจากคณะวิชาให้เป็นเป็นวิทยาลัยแห่งผลลัพธ์


ยุทธศาสตร์ที่4 การเป็นนานาชาติ (Internationalization) ยุทธศาสตร์นี้มีเป้าประสงค์(Goal) ที่สำคัญในการก้าวสู่การผลิตวิศวกรชีวการแพทย์สากล(Global Biomedical Engineers)ที่สามารถทำงานได้ทั่วโลก ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริหารภาพลักษณ์และการสร้างความมีชื่อเสียง (Image and Reputation Management) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้มีเป้าประสงค์ (Goal)ในการมุ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์สำหรับทุกช่วงวัยของชีวิตเพื่อตอบสนองสังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย อาเซียนและสังคมโลก โดยทั้งห้ายุทธศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดผลผลิตหลัก ดังนี้คือ
1. ผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะและทักษะเป็นวิศวกรชีวการแพทย์สากลในศัตวรรษที่21ที่สามารถทำงานได้ทั่วโลกและมีจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ
2. ผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม
3. เป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านระบบเครื่องมือแพทย์อัฉริยะ วิศวกรรมฟื้นฟู วิศวกรรมคลินิคและ วัสดุทางการแพทย์และวิศวกรรมเนื้อเยื่อของประเทศและเชื่อมโยงสู่เครือข่ายสากล
4. วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตจะเป็นสังคมที่มีบรรยากาศเป็น”วิทยาลัยแห่งความเป็นนวัตกรรมและจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ” และ
5. สังคมของนักศึกษาและบุคลากรวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์จะเป็นสังคมของคนดี คนเก่ง มีความสุข อบอุ่นและทำให้บุคลากรรู้สึกผูกพันและร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานให้เกิดขึ้น


                              ผมอยากจะบอกกับนักศึกษา ผู้ปกครอง หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกท่านว่า “โลกยุคปัจจุบันและอนาคตข้างหน้านั้น แค่สถาบันการศึกษาของรัฐเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในชีวิตแห่งอนาคตอีกต่อไป การเรียนในระดับอุดมศึกษาเพื่อต้องการให้ได้รับปริญญานั้นที่ไหนก็สามารถเรียนได้ แต่การเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะด้าน วิศวกรชีวการแพทย์สากล และจิตวิญญาณและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่เพรียกพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ รวมทั้งมีความพร้อมในการเดินเข้าไปสู่มิติต่างๆของแพลตฟอร์มของโลกในศตวรรษที่ 21 นั้น เป็นที่สิ่งสำคัญมากที่สุด ที่จะต้องพิจารณา


                              ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและในอนาคต ทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้มีการปฎิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติทั้งนี้เพื่อทำให้“โลกของการเรียนรู้ โลกของการทำงานและโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน” ในการตอบโจทย์และรองรับกับมิติต่างๆของแพลตฟอร์มของโลกในศตวรรษที่ 21




                                                                                                                                                                                                              (รศ.นันทชัย ทองแป้น)

                                                                                                                                                                                                  คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์

ติดต่อเรา

วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถนนพหลโยธิน หลักหก เมือง ปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12000

0-2997-2200-30 ต่อ 1428, 1486, 1452, 1506

bmersu@rsu.ac.th

ช่องทางการติดต่อ
Contact us



© College of Biomedical Engineering Rangsit University. All Rights Reserved.